วันพุธที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ยินดีต้อนรับเพื่อนๆทุกคนค่ะ ^^


ก่อนอื่นขอทักทายสั้นๆด้วยภาษาลาวว่า สบายดีค่ะเพื่อนๆทุกคน Blog นี้ประกอบไปด้วยข้อมูลที่เกี่ยวกับเบียร์ลาว เพื่อนๆสามารถเลือกข้อมูลที่สนใจตามเนื้อหาด้านล่างนี้ได้เลยนะคะ      โดยจุดประสงค์ที่จัดทำ Web blog นี้ขึ้นมา เพราะเป็นส่วนหนึ่งของวิชา International Advertising ( AD 410 )  ยังไงก็ขอฝาก Blog เบียร์ลาวนี้กับเพื่อนๆทุกคนด้วยนะคะ
  เนื้อหาประกอบด้วย
-                   เบียร์ลาว ความภาคภูมิใจของคนลาว
-                   ข้อมูลพื้นฐานของบริษัท
-                   จุดเปลี่ยนของเบียร์ลาว
-                   เบียร์ลาว วางกลยุทธ์อย่างไร ?
-                   สภาพการตลาดในประเทศ
-                   กลยุทธ์ในการเข้าตลาด
-                   การสื่อสารการตลาด
-                   การกำหนดตำแหน่งผลิตภัณฑ์
-                   แบรนด์คู่แข่ง
-                   การแข่งขันในตลาดโลก
-                   คณะผู้จัดทำ

   *** สุดท้ายนี้ถ้ามีข้อผิดพลาดประการใด คณะผู้จัดทำก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยนะคะ
            แนะนำติชมกันได้นะ ^^

เบียร์ลาว ความภาคภูมิใจของคนลาว


สาธารณะรัฐประชาธิปไตย ประชาชน ลาว หรือ ประเทศลาว เป็นประเทศ เล็ก ๆที่เพียบพร้อมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ มีวัฒนธรรม ประเพณี ที่มีมนต์ขลัง มีการรักษาประเพณีที่ดีงาม มีการแสดงถึงความยึดมั่นในศาสนา มีการตักบาตรพระในตอนเช้า รักษาวัฒนธรรมการแต่งกายที่โดดเด่น นุ่งซิ่น หรือผ้าถุง ในการทำงาน รวมถึงการสื่อสารที่มีภาษาที่มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง  “สบายดี”  เป็นคำพูดทักทายที่แสดงถึงการทักทายที่ดูแลเอาใจใส่ ความเป็นมิตรกันอย่างตลอดเวลา สำหรับเรื่องอาหารการกินง่าย ๆ ไม่ต่างกับไทยมากนัก แต่มีสินค้าหนึ่งที่มีความเป็นที่ภาคภูมิใจของชาวลาว และเป็นตราสินค้าที่แสดงถึงความเป็นคนลาวอย่างแท้จริงคือ เบียร์ลาว หรือ เบยลาว”  ที่คนไทยชอบพูดว่า เขยลาวหากใครได้มาเที่ยวประเทศลาว แล้วไม่ได้ลองทานแล้วละก็ อาจกล่าวได้ว่ามาไม่ถึงประเทศลาวอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะ ไปแขวงไหน เมืองไหน ภาคไหน แดนไหน ลาวกลาง เหนือ ใต้ อีสาน สิ่งที่เห็นตามร้านค้า สถานที่ต่าง ๆ  จะเห็นการโฆษณา สินค้าในทุกที่ เบียร์ลาวมิได้ทำมาเพื่อส่งออกขายไปทั่วโลก แต่เบียร์ลาวทำมาเพื่อให้คนลาว และนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวเมืองลาวได้กินกันเท่านั้น เบียร์ลาวอาจมีส่งออกบ้างแต่ไม่มาก เบียร์ลาวนั้นอร่อยอย่างไร ทำไมนะ นักท่องเที่ยวไม่ใช่เฉพาะจากเมืองไทยเท่านั้นที่พิศวาสเบียร์ลาว แต่เป็นนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกที่ชอบกินเบียร์ลาวเช่นกัน และวันนี้เบียร์ลาวได้นำพาเอาวัฒนธรรมน่ารักๆ ของตนเอง เดินทางไปพร้อมกับรสชาตินุ่มๆ ของฟองเบียร์ โด่งดังไปทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น ไทย อังกฤษ อเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส ฮ่องกง สวิสเซอร์เเลนด์ สิงคโปร์ เนเธอร์แลนด์ ฯลฯ 
                ความภาคภูมิใจสินค้าเบียร์ลาวของคนลาว ทำให้เบียร์ลาวประสบความสำเร็จอย่างสูง เพราะทุกคนในชาติตระหนักดีว่า ยิ่งดื่มเบียร์ลาวมากเท่าใดก็ยิ่งทำให้ประเทศลาวมีรายได้มากเท่านั้น  คนลาวรักและภูมิใจความเป็นคนลาว จึงมีความยึดมั่น ที่จะรักษา วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และ สินค้าลาว ไว้อย่างมิเสื่อมคลาย.

ข้อมูลพื้นฐานของบริษัท


ของ เบียร์ลาว (ເບຍລາວ;เบยลาว)  เริ่มต้นใน ค.ศ.1972 ซึ่งขณะนั้นลาวยังปกครองในระบอบราชอาณาจักร โดยนักธุรกิจชาวฝรั่งเศสได้ร่วมทุนกับคนลาวเชื้อสายจีนด้วยเงินลงทุน 3.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งการถือหุ้นฝ่ายฝรั่งเศส 85% ลาว 15% ตั้งโรงงานผลิตเบียร์ขึ้นทางตอนใต้ของนครหลวงเวียงจันทน์ ในเขตอำเภอหาดซายฟอง (Hatsayphong) ภายใต้ชื่อ โรงงานเหล้าเบียร์และน้ำก้อนลาว
  เริ่มการผลิตเป็นครั้งแรกในปี 1973 ด้วยกำลังการผลิต 3 ล้านลิตรต่อปี ด้วยความต้องการผลิตเบียร์ที่เข้าถึงคนทุกกลุ่ม ทุกคนสามารถดื่มได้ทั่วไปตามท้องถนน จึงตั้งแบรนด์เบียร์ที่ผลิตว่า  ลารู (La Rue) แปลว่า ถนน ในภาษาฝรั่งเศส แต่ต่อมากลับมีแนวคิดที่จะให้ La Rue เป็นเบียร์ระดับบนเพื่อเข้าไปแทรกตลาดเบียร์นำเข้าที่ผูกขาดตลาดลาวมาตลอด ตั้งแต่ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 1975 การผลิตในช่วง 2 ปีแรก ผลิตได้เพียง 90% ของกำลังการผลิตรวม โดยผลิตเบียร์ได้ปีละ 2.85 ล้านลิตร
  ระหว่างปี 1975-1976 การผลิตของโรงงานแห่งนี้ได้ลดลงจาก 2.85 ล้านลิตร เหลือเพียง 12,800 ลิตร เนื่องจากขาดแคลนวัตถุดิบนำเข้าระหว่างการจัดตั้ง สปป.ลาว อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปลายปี 1975
   ปี 1977 โรงงานเหล้าเบียร์และน้ำก้อนลาวก็ตกเป็นโรงงานของรัฐ โดยรัฐบาล สปป.ลาว ซื้อหุ้นคืนมาทั้งหมด มีการเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นเป็น 536,300 ลิตร แต่การดำเนินงานโดยรวมในฐานะที่เป็นกิจการของรัฐ เรียกได้ว่าแทบจะหยุดชะงัก
   ปี 1981 ท่านกิดสะหนา ถูกวางตัวให้มาบริหารงาน ท่านกิดสะหนาค่อยๆ ปรับเอาแนวคิดเดิมที่จะให้เบียร์จากโรงงานนี้เป็นเบียร์ที่คนทุกชั้นทุกระดับสามารถดื่มได้มาปัดฝุ่น เขาเปลี่ยน     แบรนด์จาก La Rue เป็น เบียร์ลาว ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ความต้องการบริโภค เบียร์ลาว ได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 1981 ทำให้โรงงานต้องขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นไปด้วยเป็นเงาตามตัว
   ปี 1990 กำลังการผลิตของ เบียร์ลาว อยู่ที่ปีละ 4.5 ล้านลิตร มีการขยายกำลังการผลิตขึ้นในปีนี้เป็น 6.9 ล้านลิตร และขยายเพิ่มขึ้นอีกเป็น 8.7 ล้านลิตร ในปี 1992
ปี
ระยะ
เงินลงทุน
กำลังการผลิต
1972

เริ่มก่อตั้ง

3,570,000เหรียญสหรัฐฯ
3 ล้านลิตร/ปี
1990-1993
I
800,000,000 กีบ
8 ล้านลิตร/ปี
1994-1996
II
6,700,000 เหรียญสหรัฐฯ
25 ล้านลิตร/ปี
1997-1999
III
8,500,000 เหรียญสหรัฐฯ
50 ล้านลิตร/ปี








SLOGAN


การคิดสโลแกน ถือเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งเบียร์ลาวใช้วิธีเฝ้าดูการทำตลาดของเบียร์ไทยที่ถูกควบคุมการโฆษณาสินค้าที่มีแอลกอฮอล์ไม่ให้โจ่งแจ้ง หรือกระตุ้นให้คนดื่มโดยตรง 
   โดยสโลแกนล่าสุดที่เบียร์ลาวเลือกใช้คือ เบียร์ลาว เบียร์ของคนลาว คนจริงใจ ซึ่งใช้มาตั้งแต่ สปป.ลาวได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ เมื่อปลายปีที่แล้ว สโลแกนนี้ออกมาพร้อมเพลงประกอบภายใต้เนื้อหาเดียวกัน ถูกเปิดกระหึ่มในช่วงซีเกมส์ และน่าดีใจที่เป็นสโลแกนซึ่งได้ บริษัท Pocin เอเยนซี่จากไทยไปช่วยคิด  
  เบียร์ลาว เบียร์ของคนลาว คนจริงใจ   เป็นวลีที่ดูเรียบง่าย ใช้ภาษาตรงๆ ไม่อ้อมค้อมสะท้อนถึงบุคลิกตัวตนของคนลาวได้ตรงจุดที่สุด วลีนี้ยังมีนัยที่กินใจคนลาวทั้งประเทศ จนกลายเป็นความจงรักภักดีต่อตราสินค้าส่งผลให้ เบยลาว หรือ เบียร์ลาว เป็นเบียร์ที่ครองส่วนแบ่งการตลาดสูงถึง 98% ของตลาดเบียร์ใน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ทั้งประเทศ คนไทยส่วนใหญ่รู้จัก เบียร์ลาว แม้บางคนที่ไม่ใช่คอเบียร์ และไม่ใช่คนที่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ แต่หากได้เคยเดินทางไปยัง สปป.ลาว อย่างน้อยต้องได้เห็นตราสินค้าของ เบียร์ลาว อยู่ตามป้ายโฆษณาหรือบิลบอร์ดที่กระจายติดตั้งอยู่ทั่วทุกจุด 




สโลแกน เบียร์ลาว "เบียร์ของคนลาว คนจริงใจ"
ซึ่งพบได้ทั่วไปตามป้ายโฆษณาของเบียร์ลาว

เบียร์ลาว วางกลยุทธ์อย่างไร ?


ในปี 1993 รัฐบาล สปป.ลาว มีนโยบายให้แปรรูป (privatization) โรงงานเบียร์ลาวเพื่อหาเงินทุนภายนอกเข้ามาขยายกิจการ ได้มีการเชิญชวนนักลงทุนจากประเทศไทย คือบริษัทล็อกซเล่ย์และบริษัทอิตัลไทยเข้ามาถือหุ้น โดยรัฐบาล สปป.ลาว ยอมลดสัดส่วนการถือหุ้นลงมาเหลือ 49% และให้ทั้ง 2 รายถือหุ้นรวมกัน 51% เบียร์ลาวได้เพิ่มเงินทุนจากเดิมที่มีอยู่ 800 ล้านกีบ เป็น 6.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายหลังการแปรรูป เมื่อมีเงินทุนใหม่เข้ามาทำให้ เบียร์ลาว ได้โอกาสเติบโตแบบก้าวกระโดด กำลังการผลิตของ เบียร์ลาว ได้เพิ่มขึ้นจาก 10.2 ล้านลิตรในปลายปี 1994 เป็น 25 ล้านลิตร ในปี 1997 แต่การขยายกำลังการผลิตหลายครั้งก็ยังไม่สามารถผลิตเบียร์ได้พอกับความต้องการภายในประเทศอยู่ดี ดังนั้นจึงมีการขอขยายโรงงานอีกครั้ง เมื่อเดือนสิงหาคม 1997 ในพื้นที่ตั้งของโรงงานเดิมและได้รับอนุญาตให้ดำเนินการได้ โรงงานใหม่นี้สร้างเสร็จเมื่อปลายปี 1999 โดยมีกำลังผลิตเพิ่มเป็นปีละ 50 ล้านลิตร เงินทุนของ เบียร์ลาว ในช่วงนี้ได้เพิ่มขึ้นจาก 6.7 ล้านดอลลาร์ ในปี 1994 มาเป็น 8.5 ล้านดอลลาร์ ในปี 1997
  นอกจากนี้ การที่ได้ผู้ถือหุ้นจากภาคเอกชนเข้ามายังทำให้ เบียร์ลาว ได้เรียนรู้โนว์ฮาวด้านการบริหารจัดการ โดยในช่วงนั้นทั้งล็อกซเล่ย์ และอิตัลไทยต่างก็ส่งทีมงานเข้ามาช่วยปรับปรุงการบริหารจัดการที่เคยเฉื่อยชาแบบรัฐวิสาหกิจให้แอคทีฟแบบเอกชนซึ่งแม้จะไม่เต็มร้อยแต่ก็ทำให้การบริหารงานของ เบียร์ลาว คล่องตัวขึ้นมาก ปี 1984-1985 มาร์เก็ตแชร์เบียร์ลาวมีแค่ 50% ตอนนั้นคนลาวนิยมเบียร์ไฮเนเก้นเป็นเบียร์นอก เบียร์ลาว 50% แต่จากวันนั้นถึงวันนี้เรามีแชร์ 98-99%”
  ตอนที่ได้ผู้ร่วมทุนใหม่เข้ามา ท่านกิดสะหนา มีโอกาสได้บริหารงานต่อตามเงื่อนไขของผู้ถือหุ้นที่กำหนดเอาไว้เลยว่าเขาต้องอยู่ ซึ่งก็หมายความว่าชีวิตของกิดสะหนาได้เติบโตมาควบคู่มากับ เบียร์ลาว ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน เขาบริหาร เบียร์ลาว ตั้งแต่เริ่มคิดสโลแกน วางกลยุทธ์ สร้างตลาด โดยกำหนดเป้าหมายไว้ว่า เบียร์ลาว ต้องเป็น เบียร์ของคนลาวทุกคน เขายอมรับอย่างเปิดเผยว่า หลายกลยุทธ์ที่เขานำมาใช้ เป็นกลยุทธ์ที่ เลียนแบบเบียร์สิงห์ของไทย เราต้องเรียนรู้ของเพื่อนบ้านที่เขาประสบความสำเร็จ สิงห์เขาใช้ My Country My Beer ไม่ใช่ลิขสิทธิ์ของใคร เราเอามาใช้ ก็เป็น เบียร์ลาว เมืองลาว ก็เป็นที่ฮิต ที่ฮือฮา เป็นความภูมิใจของผู้บริโภค และเป็นกลยุทธ์การตลาดที่จับกลุ่มคนทุกชั้น ใช้อยู่ 2-3 ปี ก็เปลี่ยนสโลแกนมาเป็น เบียร์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ เป็นความภาคภูมิใจของคนลาว ซึ่งก็กินใจและเป็นที่ภูมิใจของชาวลาวอีก

สภาพการตลาดในประเทศ


     การขายเบียร์ให้ทุกชนชั้นแม้จะขัดแย้งกับประเพณีของลาวอยู่บ้าง แต่ก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลลาวต้องชั่งใจเพราะถึงไม่ผลิตเอง ก็ไม่สามารถปิดกั้นตลาดเบียร์ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศได้ ดังนั้นความหมายของการดื่มได้ทั่วทุกคนจึงเน้นที่จะสื่อสารออกไปว่า ให้คนลาวดื่มอย่างพอเหมาะ ให้หลายคนดื่ม ไม่ใช่ดื่มคนเดียวหลายๆ ท่านกิดสะหนา ยกตัวอย่างเป็นคำพูดที่ทำให้มองเห็นภาพ  เป็นการทำตลาดที่เน้นจิตสำนึกที่พยายามปลูกฝัง แม้จะขัดแย้งกับการตลาดแห่งยุคสมัยที่มุ่งเพิ่มยอดขายก็ตาม เราเป็นศาสนาพุทธ แต่เบียร์จากต่างประเทศมาจากทุกแห่ง สไตล์ของเขาเน้นหาผู้บริโภค ยอดต้องขึ้น แต่เราต้องการทำตลาดระยะยาว ให้ยืนยงเพื่อรักษาการรับรู้ในแบรนด์ บนความเชื่อมั่นของผู้บริโภค
     การนำเบียร์ยี่ห้ออื่นเข้าไปตีตลาดในประเทศลาวนั้น เป็นเรื่องที่ยากมากในทุกวันนี้เพราะชาวลาวส่วนใหญ่ยังคงนิยมดื่ม เบียร์ลาวซึ่งเป็นเบียร์แห่งชาติอย่างแพร่หลาย ดังจะเห็นได้จากการครองความเป็นเจ้าในตลาดเบียร์ของประเทศ ซึ่งมีสัดส่วนการขายมากถึง 99% 
      เบียร์ลาวได้รับความนิยมจากคนจำนวนมากในประเทศ ถึงขนาดที่หนังสือพิมพ์ของเดนมาร์กฉบับหนึ่งนำไปกล่าวเปรียบเปรยว่า เบียร์ลาวกับชาวลาวนั้นก็เหมือนกับทีมฟุตบอลกับแฟนคลับที่คลั่งไคล้ในทีมของตนอย่างไม่เสื่อมคลาย”     

      ตัวเลขส่วนแบ่งการตลาดเกือบ 100% ของ เบียร์ลาว ถือเป็นตัวเลขที่มีนัยสำคัญ เพราะธรรมชาติของคนลาวปัจจุบัน เวลามีงานเลี้ยงสังสรรค์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่นิยมดื่มกันมากที่สุด คือเบียร์ ขณะที่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทอื่นๆ มีคนดื่มน้อยมาก อย่างวิสกี้หรือบรั่นดี คนมีฐานะในสังคมเพียงไม่กี่กลุ่มที่สามารถดื่มได้ หรือคนในชนบทห่างไกลซึ่งมีสัดส่วนประชากรไม่มากนักที่ยังมีประเพณีดื่มสุราพื้นบ้านหรือสุรากลั่นเองอยู่ ประมาณกันว่ามูลค่าตลาดเบียร์ของ สปป.ลาว โดยรวมในปัจจุบันตกประมาณปีละ 2 ล้านล้านกีบ หรือเท่ากับ 7,874 ล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยนที่ 254 กีบเท่ากับ 1 บาท) หากคิดเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ มูลค่าตลาดดังกล่าวจะอยู่ที่ 238 ล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม ท่านกิดสะหนา วงไซ ผู้อำนวยการใหญ่บริษัทเบียร์ลาวให้ตัวเลขอย่างถ่อมตัวว่ายอดขายของ เบียร์ลาว ทุกวันนี้อยู่ที่ปีละ 150 ล้านดอลลาร์ เท่านั้น ตัวเลขนี้อาจดูน้อยหากเปรียบเทียบกับตลาดเบียร์ในประเทศไทยที่มีประชากรกว่า 65 ล้านคน แต่ถือเป็นตัวเลขที่ใหญ่มากของ สปป.ลาว ที่มีประชากรเพียง 6 ล้านคนเศษ!!
    ส่วนหนึ่งที่ทำให้เบียร์ลาวสามารถครองตลาดในประเทศอยู่ได้ทั้งๆ ที่ทำการตลาดน้อยมากหรือไม่ได้ทำเลย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรัฐบาลตั้งกำแพงภาษีสำหรับเบียร์ต่างชาติไว้สูงถึง 40 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เบียร์ลาวสามารถครองตลาดอยู่ได้แบบสบายๆ ( ความได้เปรียบเรื่องกำแพงภาษีดังกล่าวกำลังจะหมดไปในปี 2551 ที่จะถึงนี้ เมื่อถึงกำหนดที่ลาวจะต้องเปิดเสรีการค้าของตัวเองตามข้อบังคับของความตกลงเรื่องการจัดตั้งเขตการค้าเสรีแห่งอาเซียนหรืออาฟต้า )
   หากมองไปถึงอนาคต เบียร์ลาว กำลังเป็นเบียร์ที่ได้รับความนิยมไม่เฉพาะใน สปป.ลาว แต่ยังรวมถึงคนไทย และนักท่องเที่ยวชาวตะวันตก จนกำลังการผลิต 210 ล้านลิตรต่อปีจากโรงงานที่มีอยู่ 2 แห่งในทุกวันนี้ไม่เพียงพอต้องขยายกำลังการผลิตเพิ่มอีก 150 ล้านลิตร

กลยุทธ์ในการเข้าตลาด


   ในปี 2002 เบียร์ลาวได้ผู้ร่วมทุนรายใหม่ คือบริษัททีซีซีของคุณเจริญ สิริวัฒนภักดี ซึ่งขณะนั้นยังญาติดีกับคาร์ลสเบอร์กร่วมทุนกันทำธุรกิจเบียร์ในประเทศไทยอยู่ ทั้งล็อกซเล่ย์และอิตัลไทยยอมขายหุ้นคืนให้ด้วยเหตุผลที่ลงตัวหลายด้านทั้งผลตอบแทนจากการลงทุนที่ได้รับ ประกอบกับเป็นช่วงที่เพิ่งผ่านพ้นวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศไทยมาหมาดๆ ทั้ง 2 บริษัทจึงต้องการกำไรเพื่อนำเงินกลับเข้ามาโฟกัสธุรกิจหลักของแต่ละบริษัทสัดส่วนการถือหุ้นใน เบียร์ลาว ช่วงนี้ แบ่งเป็นรัฐบาลสปป.ลาว 50% ทีซีซี 25% และบริษัทคาร์ลสเบอร์ก จากประเทศเดนมาร์ก ถือหุ้น 25% คุณเจริญถือหุ้นอยู่ใน เบียร์ลาว ได้เพียง 3 ปี ในกลางปี 2005 เมื่อความขัดแย้งระหว่างเขากับคาร์ลสเบอร์กถึงจุดแตกหัก เขาขายหุ้นที่ถืออยู่ใน เบียร์ลาว ออกทั้งหมด สัดส่วนการถือหุ้นใน เบียร์ลาว จึงเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง โดยครั้งนี้แบ่งกันถือระหว่างรัฐบาล สปป.ลาว กับคาร์ลสเบอร์กฝ่ายละ 50% เท่ากัน และสัดส่วนนี้ยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน เงินทุนของ เบียร์ลาว ช่วงนี้เพิ่มขึ้นมาเป็น 20 ล้านดอลลาร์
  ท่านกิดสะหนาให้เครดิตรัฐบาล สปป. ลาว ว่าเป็นความฉลาดที่สร้างเงื่อนไขตอบสนองนโยบาย go inter ด้วยการหาผู้ร่วมทุนที่เป็นมืออาชีพเฉพาะด้าน ทำให้บริษัทได้รับการพัฒนาอย่างถูกทางการได้กลุ่มทีซีซีของคุณเจริญกับคาร์ลสเบอร์กเข้ามาถือหุ้นในปี 2002 ทำให้ เบียร์ลาว ได้ขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากปีละ 50 ล้านลิตร เป็น 90 ล้านลิตร
   ปลายเดือนกันยายน 2005 เบียร์ลาว ก็ได้ประกาศจับมือกับคาร์ลสเบอร์กโดยโรงงานของ เบียร์ลาว ที่นครหลวงเวียงจันทน์จะผลิตเบียร์คาร์ลสเบอร์กเป็นเบียร์เกรดพรีเมียมเพื่อวางจำหน่ายในสปป.ลาวเป็นครั้งแรก นอกจากนี้ยังได้ปรับรูปโฉมของเบียร์ลาวใหม่ เปลี่ยนโลโกจากรูปหัวเสือดำ เป็นรูปหัวเสือโคร่งสีเหลือง รวมทั้งออกสินค้าใหม่คือ เบียร์ลาวไลท์ พร้อมทั้งเตรียมขยายกำลังการผลิตจาก 90 ล้านลิตร เป็น 120 ล้านลิตรภายในสิ้นปี 2005
           

   กลางปี 2006 เบียร์ลาว ประกาศโครงการก่อสร้างโรงงานแห่งที่ 2 ในเมืองปากเซ แขวงจำปาสัก โดยโรงงานแห่งใหม่ต้องใช้เงินลงทุน 25 ล้านดอลลาร์ มีกำลังการผลิตรวม 200 ล้านลิตรต่อปี แบ่งการก่อสร้างเป็น 4 ระยะ แต่ละระยะมีกำลังการผลิต 50 ล้านลิตร เบียร์ลาว จัดพิธีลงนามในสัญญาก่อสร้างโรงงานกับบริษัทซีมานน์กรุ๊ป (Siemann Group) จากเยอรมนี เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2006 อีก 1 ปีถัดมาในวันที่ 31 กรกฎาคม 2007 เบียร์ลาว ได้จัดพิธีลงนามในสัญญาเงินกู้ระหว่าง เบียร์ลาว กับธนาคารการค้าต่างประเทศลาว (BCEL) และบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (IFC) ในวงเงินกู้รวม 20 ล้านดอลลาร์ ท่านกิดสะหนากล่าวในพิธีลงนามเงินกู้ดังกล่าวว่า เงินกู้ก้อนนี้จะช่วยปรับปรุงขีดความสามารถในการแข่งขันภายในประเทศรวมทั้งการขยายการผลิตในนครหลวงเวียงจันทน์และการก่อสร้างโรงงานใหม่ในแขวงจำปาสัก
    ปัจจุบันกำลังการผลิตรวมของ เบียร์ลาว อยู่ที่ 210 ล้านลิตรต่อปี แบ่งเป็นโรงงานในนครหลวงเวียงจันทน์ 160 ล้านลิตร และโรงงานที่แขวงจำปาสัก ระยะแรก ซึ่งก่อสร้างเสร็จและเปิดดำเนินการแล้วอีก 50 ล้านลิตร