วันพุธที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

กลยุทธ์ในการเข้าตลาด


   ในปี 2002 เบียร์ลาวได้ผู้ร่วมทุนรายใหม่ คือบริษัททีซีซีของคุณเจริญ สิริวัฒนภักดี ซึ่งขณะนั้นยังญาติดีกับคาร์ลสเบอร์กร่วมทุนกันทำธุรกิจเบียร์ในประเทศไทยอยู่ ทั้งล็อกซเล่ย์และอิตัลไทยยอมขายหุ้นคืนให้ด้วยเหตุผลที่ลงตัวหลายด้านทั้งผลตอบแทนจากการลงทุนที่ได้รับ ประกอบกับเป็นช่วงที่เพิ่งผ่านพ้นวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศไทยมาหมาดๆ ทั้ง 2 บริษัทจึงต้องการกำไรเพื่อนำเงินกลับเข้ามาโฟกัสธุรกิจหลักของแต่ละบริษัทสัดส่วนการถือหุ้นใน เบียร์ลาว ช่วงนี้ แบ่งเป็นรัฐบาลสปป.ลาว 50% ทีซีซี 25% และบริษัทคาร์ลสเบอร์ก จากประเทศเดนมาร์ก ถือหุ้น 25% คุณเจริญถือหุ้นอยู่ใน เบียร์ลาว ได้เพียง 3 ปี ในกลางปี 2005 เมื่อความขัดแย้งระหว่างเขากับคาร์ลสเบอร์กถึงจุดแตกหัก เขาขายหุ้นที่ถืออยู่ใน เบียร์ลาว ออกทั้งหมด สัดส่วนการถือหุ้นใน เบียร์ลาว จึงเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง โดยครั้งนี้แบ่งกันถือระหว่างรัฐบาล สปป.ลาว กับคาร์ลสเบอร์กฝ่ายละ 50% เท่ากัน และสัดส่วนนี้ยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน เงินทุนของ เบียร์ลาว ช่วงนี้เพิ่มขึ้นมาเป็น 20 ล้านดอลลาร์
  ท่านกิดสะหนาให้เครดิตรัฐบาล สปป. ลาว ว่าเป็นความฉลาดที่สร้างเงื่อนไขตอบสนองนโยบาย go inter ด้วยการหาผู้ร่วมทุนที่เป็นมืออาชีพเฉพาะด้าน ทำให้บริษัทได้รับการพัฒนาอย่างถูกทางการได้กลุ่มทีซีซีของคุณเจริญกับคาร์ลสเบอร์กเข้ามาถือหุ้นในปี 2002 ทำให้ เบียร์ลาว ได้ขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากปีละ 50 ล้านลิตร เป็น 90 ล้านลิตร
   ปลายเดือนกันยายน 2005 เบียร์ลาว ก็ได้ประกาศจับมือกับคาร์ลสเบอร์กโดยโรงงานของ เบียร์ลาว ที่นครหลวงเวียงจันทน์จะผลิตเบียร์คาร์ลสเบอร์กเป็นเบียร์เกรดพรีเมียมเพื่อวางจำหน่ายในสปป.ลาวเป็นครั้งแรก นอกจากนี้ยังได้ปรับรูปโฉมของเบียร์ลาวใหม่ เปลี่ยนโลโกจากรูปหัวเสือดำ เป็นรูปหัวเสือโคร่งสีเหลือง รวมทั้งออกสินค้าใหม่คือ เบียร์ลาวไลท์ พร้อมทั้งเตรียมขยายกำลังการผลิตจาก 90 ล้านลิตร เป็น 120 ล้านลิตรภายในสิ้นปี 2005
           

   กลางปี 2006 เบียร์ลาว ประกาศโครงการก่อสร้างโรงงานแห่งที่ 2 ในเมืองปากเซ แขวงจำปาสัก โดยโรงงานแห่งใหม่ต้องใช้เงินลงทุน 25 ล้านดอลลาร์ มีกำลังการผลิตรวม 200 ล้านลิตรต่อปี แบ่งการก่อสร้างเป็น 4 ระยะ แต่ละระยะมีกำลังการผลิต 50 ล้านลิตร เบียร์ลาว จัดพิธีลงนามในสัญญาก่อสร้างโรงงานกับบริษัทซีมานน์กรุ๊ป (Siemann Group) จากเยอรมนี เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2006 อีก 1 ปีถัดมาในวันที่ 31 กรกฎาคม 2007 เบียร์ลาว ได้จัดพิธีลงนามในสัญญาเงินกู้ระหว่าง เบียร์ลาว กับธนาคารการค้าต่างประเทศลาว (BCEL) และบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (IFC) ในวงเงินกู้รวม 20 ล้านดอลลาร์ ท่านกิดสะหนากล่าวในพิธีลงนามเงินกู้ดังกล่าวว่า เงินกู้ก้อนนี้จะช่วยปรับปรุงขีดความสามารถในการแข่งขันภายในประเทศรวมทั้งการขยายการผลิตในนครหลวงเวียงจันทน์และการก่อสร้างโรงงานใหม่ในแขวงจำปาสัก
    ปัจจุบันกำลังการผลิตรวมของ เบียร์ลาว อยู่ที่ 210 ล้านลิตรต่อปี แบ่งเป็นโรงงานในนครหลวงเวียงจันทน์ 160 ล้านลิตร และโรงงานที่แขวงจำปาสัก ระยะแรก ซึ่งก่อสร้างเสร็จและเปิดดำเนินการแล้วอีก 50 ล้านลิตร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น